ประวัติพระราชาคณะอำเภออรัญประเทศ
---------------------
พระราชาคณะ หมายถึง พระภิกษุที่ได้รับสถาปนาให้มีสมณศักดิ์ตั้งแต่ชั้นสามัญจนถึงชั้นสมเด็จพระราชาคณะ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า พระสังฆราชาคณะ หมายความว่า เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ ต่อมาในสมักรุงรัตนโกสินทร์เปลี่ยนเป็นพระราชาคณะ ความหมายยังคงเดิม มีคำนำหน้าราชทินนามว่า “พระ” แต่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่าเจ้าคุณหรือท่านเจ้าคุณ ถ้าเป็นสมเด็จพระราชาคณะเรียกว่า ท่านเจ้าประคุณ แยกเป็นลำดับดังนี้ -
๑. สมเด็จพระราชาคณะ (ชั้นสุพรรณบัฏ)
๒. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (ชั้นหิรัญบัฏ)
๓. พระราชาคณะเจ้าคณะรอง (ชั้นสัญญาบัตร)
๔. พระราขาคณะชั้นธรรม
๕. พระราชาคณะชั้นเทพ
๖. พระราชาคณะชั้นราช
๗. พระราชาคณะชั้นสามัญ ซึ่งแบ่งตามลำดับเป็น -
·
พระราชาคณะปลัดขวา ปลัดซ้าย
·
พระราชาคณะ ชั้นสามัญเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
·
พระราชาคณะ ชั้นสามัญเปรียญธรรม ๙, ๘, ๗, ๖, ๕, ๔
และเปรียญธรรม ๓ ตามลำดับ
·
พระราชาคณะ ชั้นสามัญเทียบเปรียญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
·
พระราชาคณะ
ชั้นสามัญเทียบเปรียญ
|
·
พระราชาคณะ ชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ
·
พระราชาคณะ ชั้นสามัญยก
อีกทั้งพระราชาคณะสามารถแต่งตั้งฐานานุกรม เพื่อช่วยงานด้านต่างๆได้ ซึ่งพระราชาคณะชั้นสามัญมี ๓ ฐานานุกรม คือ
พระปลัด พระสมุห์ และพระใบฎีกา ส่วนพระราชาคณะชั้นราชขึ้นไปก็จะมีฐานานุกรม ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาบัตรและสุพรรณบัฏ๑
บทบาทพระราชาคณะกับอัตลักษณ์การพัฒนา
อำเภออรัญประเทศ
(เดิมเขียนว่า อรัญญประเทศ) ตามประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์
ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ซึ่งปรากฏในประชุมพงศาวดารหอสมุดแห่งชาติ
ทรงโปรดให้ยกบ้านเรือนชุมชนที่มีประชากรอาศัยอยู่มากขึ้นเป็นเมืองในช่วงปี พ.ศ.
๒๓๖๗ (ร.ศ. ๑๒๒) ชุมชนบ้านเรือนประชาชนที่อยู่แถบเชิงเทือกเขาบรรทัด (เดิมเรียกว่า
เชิงเขาประทัด) มีทั้งสิ้น ๒๘ เมือง เช่นมีเขตชุมชนบ้านด่านหนุมาน ยกขึ้นเป็น
“เมืองกบินทร์บุรี” จนถึงเขตชุมชนบ้านดงอรัญหรือบ้านอรัญทุ่งแค ยกขึ้นเป็น
“เมืองอรัญญประเทศ”๒ ก่อนมีสถานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๖ (ร.ศ. ๒๐๑)
เมืองอรัญ(ญ)ฯ
ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่มีการอพยพและตั้งรกรากของชาวลาวหรือครัวลาวที่มาจากเวียงจันทร์
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ที่ทำกิน ลักษณะการเป็นอยู่ถึงจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ก็ยังมีที่ไม่เปลี่ยน
คือ “วัฒนธรรม ประเพณี” อันเห็นได้จากลักษณะภาษา หรือประเพณีบางอย่างของชาวลาว
เช่น พิธีแห่ปราสาทผึ้ง เป็นต้น
โดยอาศัยพระสงฆ์และผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้บอกเล่าผ่านวัฒนธรรม ประเพณี เหล่านั้น
หรืออาจได้เรียกว่า “ทุกถิ่นฐานประชา มีสายธารวัฒนธรรมบรรพชน”
พระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะที่มีบทบาทต่อการสร้างอัตลักษณ์การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมามี ๓
รูป คือ-
รูปที่หนึ่ง พระอรัญประเทศคณาจารย์ (ลี อินทฺโชโต) นามเดิม
ลี จันทร์ชู เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๓๘ ณ บ้านโนนสาวเอ้
เมืองอรัญญประเทศ (ตำบลคลองน้ำใสอำเภออรัญประเทศ) เป็นบุตรของนายอ่าง นางผุย
จันทร์ชู เมื่ออายุ ๑๔ ปี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโคกสะแบง เมืองอรัญญประเทศ
(ตำบลคลองน้ำใส อำเภออรัญประเทศ) มีพระครูวัน (พระหลักคำ) วัดสุทธาวาส
เป็นพระอุปัชฌาย์๓ และอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ณ พัทธสีมาวัดสุทธาวาส โดยมีพระครูวัน
เจ้าคณะแขวงอรัญ วัดสุทธาวาส เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านเจ้าคุณลีได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ราชทินนามที่ “พระอรัญประเทศคณาจารย์”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ท่านมีบทบาทอย่างมากต่อการพัฒนาเมืองอรัญฯ
โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของลูกหลานชาวเมืองอรัญฯ การสาธารณูปการ เช่น การริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองอรัญฯ
การสร้างและพัฒนาวัดให้เป็นศาสนสถานแหล่งรวมจิตวิญญาณ
สายธารวัฒนธรรมของพระพุทธศาสนา เช่น สร้างวัดหลวงอรัญญ์ ส่งเสริมให้ภิกษุสามเณร
เด็กเยาวชน ได้มีโอกาสทางการศึกษาโดยให้วัดเป็นศูนย์กลาง จนเมื่อปี พ.ศ. ๑๕๑๒
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
เสด็จพระราชดำเนินทอดผ้าพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์ ณ วัดหลวงอรัญญ์ จนบางคนบางท่านถึงกับเอ่ยปากว่า
“ได้เห็นในหลวงเพราะเจ้าคุณลี”๔
รูปที่สอง พระราชธรรมภาณี (สุนาถ ติกฺขวีโร)
นามเดิม สุนาถ เกิดน้ำใส เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน ๒๔๗๘ ณ บ้านคลองน้ำใส ตำบลคลองน้ำใส
อำเภออรัญประเทศเป็นบุตรของนายบาง นางวันนา เกิดน้ำใส เมื่ออายุ ๑๖ ปี
บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดโคกสะแบง ตำบลท่าข้าม มีพระครูอรัญประเทศคณาจารย์ (ลี)
วัดหลวงอรัญญ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และอุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ณ พัทธสีมาวัดหลวงอรัญญ์
มีพระอรัญประเทศคณาจารย์ (ลี) วัดหลวงอรัญญ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ท่านเจ้าคุณสุนาถท่านเป็นผู้ใฝ่ใจเรื่องการศึกษาและการพัฒนาบุคคล ท่านเป็นเปรียญ ๔
ประโยค และยังเข้ารับการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) จนจบหลักสูตรพุทธศาสตรมหาบัณฑิต๔
ส่วนการปกครองเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภออรัญประเทศ และเจ้าคณะจังหวัดสระแก้ว
ท่านเป็นผู้ผลักดันสนับสนุนให้เกิดการศึกษาของพระสงฆ์ในจังหวัดสระแก้วขึ้น
โดยเปิดให้มีหน่วยวิทยบริการ มจร. ที่วัดสระแก้ว (พระอารามหลวง)
ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙
เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญธรรม ๔ ราชทินนามที่ “พระโสภณพุทธิธาดา” เมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๔๐ และโปรดเลื่อนสมณศักดิ์เป็นชั้นราช ราชทินนามที่ “พระราชธรรมภาณี”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑
รูปที่สาม พระสิริวุฒิเมธี (สมพร กนฺตาโภ) นามเดิม สมพร
พงษ์ศรี เกิดเมื่ออาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม ๒๔๙๙ ณ บ้านเหล่าอ้อย ตำบลหนองสังข์
อำเภออรัญประเทศ เป็นบุตรของนายลี นางมาก พงษ์ศรี อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ณ
พัทธสีมาวัดหลวงอรัญญ์ มีพระครูพรหมวิริยคุณ (พรหมา) วัดโคกสูง เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านเจ้าคุณสมพรเป็นผู้ให้ความสนใจต่อการพัฒนาบุคลากรของพระพุทธศาสนาและการศึกษาของพระสงฆ์
ท่านเป็นเปรียญ ๗ ประโยค ส่วนการปกครองเคยดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะอำเภออรัญประเทศ
และปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดสระแก้ว ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ ๙ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญเปรียญธรรม ๗ ราชทินนามที่ “พระสิริวุฒิเมธี”
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๐๔
------------------------- |
๑พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน
พ.ศ. ๒๕๕๔
๒จรูญ พัฒนศร. (๒๕๑๕) ประวัติเมืองอรัญประเทศ
; อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นายเลิศชัย จำปาเทศ พ.ศ.
๒๕๔๒.
๓พิศิษฐ์
งามงด. (มปป.) ประวัติพระอรัญญประเทศคณาจารย์ (ลี จันทร์ชู). เอกสารถ่ายสำเนา.
๔พระธรรมปริยัติโสภณ
(วรวิทย์). (๒๕๕๒) ประวัติจังหวัดสระแก้ว ; ที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพพระราชปริยัตยาจารย์
(เส็ง). กรุงเทพมหานคร : โรง
พิมพ์บริษัทสหธรรมิก จำกัด.
ขอขอบคุณข้อมูล
พระเดชพระคุณพระพระราชธรรมภาณี
ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดสระแก้ว, พระเดชพระคุณพระสิริวุฒิเมธี
รองเจ้าคณะจังหวัดสระแก้ว และผู้เฒ่าผู้แก่ชาวอรัญฯ
ทุกท่านที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมา ฯ